โลโก้เว็บไซต์ ร่วมลงพื้นที่บ้านบ่อแก้ว ตำบลไทรย้อย อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ เพื่อจัดกระบวนการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน ภายใต้โครงการวิจัย “การพัฒนาและยกระดับผลิตภัณฑ์เครื่องประกอบการแต่งกายจากพลอยขนาดเล็กสู่เศรษฐกิจมูลค่าสูงสำหรับชุมชนบ้านบ่อแก้วมีส่วนร่วม” | สถาบันวิจัยและพัฒนา

ร่วมลงพื้นที่บ้านบ่อแก้ว ตำบลไทรย้อย อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ เพื่อจัดกระบวนการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน ภายใต้โครงการวิจัย “การพัฒนาและยกระดับผลิตภัณฑ์เครื่องประกอบการแต่งกายจากพลอยขนาดเล็กสู่เศรษฐกิจมูลค่าสูงสำหรับชุมชนบ้านบ่อแก้วมีส่วนร่วม”

เผยแพร่เมื่อ : พฤหัสบดี 7 มีนาคม 2567 โดย พลอยภิญญา สุภาพรเหมินทร์ จำนวนผู้เข้าชม 145 คน

ยังไม่มีคะแนนสำหรับบทความนี้ ผู้อ่านสามารถให้คะแนนบทความได้จากปุ่มข้างใต้

วันที่ 2-3 มีนาคม 2567 นายสุริยนต์ สูงคำ เจ้าหน้าที่วิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลงพื้นที่บ้านบ่อแก้ว ตำบลไทรย้อย อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ เพื่อจัดกระบวนการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนภายใต้โครงการวิจัย “การพัฒนาและยกระดับผลิตภัณฑ์เครื่องประกอบการแต่งกายจากพลอยขนาดเล็กสู่เศรษฐกิจมูลค่าสูงสำหรับชุมชนบ้านบ่อแก้วมีส่วนร่วม” โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ตยานิตย์ มิตร์แปง คณะศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมศาสตร์ เป็นหัวหน้าโครงการ ณ บ้านบ่อแก้ว หมู่ที่ 4 ตำบลไทรย้อย อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่  เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นชุมชนที่ตั้งอยู่แนวลำห้วยที่เป็นเส้นทางของพลอยล้านปี ได้แก่ลำห้วยแม่สูงและลำห้วยสาขา ซึ่งจากการสำรวจและตรวจสอบคุณภาพของพลอยในขั้นต้นพบว่าสามารถเพิ่มคุณภาพและพัฒนาในเชิงเศรษฐกิจได้ หลังจากการประกอบอาชีพเกษตรกรรมคือทำนาข้าวแล้ว ชาวบ้านจะร่อนหาพลอยเพื่อสร้างรายได้เสริมให้กับครอบครัว ปัจจุบันบ้านบ่อแก้ว ได้รับการสนับสนุนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์การศึกษาแร่พลอย การท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ โดยเชื่อมกับแหล่งท่องเที่ยวสำคัญในพื้นที่ตำบลไทรย้อย ประชาชนจะนำพลอยที่ได้นั้นมาเจียระไนทำเป็นของที่ระลึก สร้างรายได้ให้กับชุมชน 

การลงพื้นที่นอกจากจะเป็นการทบทวนสถานการณ์ด้านการประกอบอาชีพเกี่ยวกับอัญมณีและเครื่องประดับในพื้นที่ร่วมกับกลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับบ้านบ่อแก้ว หมู่ที่ 4 ตำบลไทรย้อย อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่  ร่วมกับอาจารย์นักวิจัยที่ทำให้ทราบถึงองค์ความรู้ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องประดับแล้ว ยังเป็นการนำไปสู่การแลกเปลี่ยนเพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชน ที่จะเป็นไปเพื่อการยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน ส่งเสริมเศรษฐกิจภายในชุมชน และเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมของท้องถิ่น ด้วยองค์ความรู้ด้านการออกแบบและเทคโนโลยีสนับสนุนกระบวนการผลิตจากทีมวิจัย

นอกจากนี้นักวิจัยยังมีโอกาสได้ลงพื้นที่เพื่อสังเกตการณ์แบบมีส่วนร่วมในกระบวนการร่อนพลอยในลำห้วยของชุมชนบ้านบ่อแก้ว พบว่า พลอยขนาดเล็กที่ร่อนได้นั้นประกอบด้วยพลอยหลายชนิดทั้งพลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อน เช่น ไพลิน โกเมน นิล ซึ่งมีขนาด สี และคุณภาพที่แตกต่างกันออกไป ทั้งนี้คุณเปมิกา จันทะวงค์ ผู้ใหญ่บ้านบ้านบ่อแก้วและประธานกลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับบ้านบ่อแก้ว ได้แสดงความคิดเห็นว่า ก่อนหน้านี้ในช่วงสถานการณ์โควิดส่งผลให้ต้องหยุดการผลิต ชาวบ้านขาดรายได้จากการจำหน่ายอัญมณีเจียระไนและเครื่องประดับอัญมณี ประกอบกับรูปแบบของผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายในปัจจุบันยังเป็นแบบเดิมซึ่งเหมาะกับกลุ่มลูกค้าวัยทำงานช่วงอายุ 40-50 ปี หากสามารถสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบของผลิตภัณฑ์ให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายใหม่ ๆ หรือมีกลุ่มเป้าหมายที่กว้างขึ้น อาจส่งผลให้สภาวะเศรษฐกิจของคนในชุมชนดีขึ้น ช่วยขับเคลื่อนสังคมและประเทศชาติให้หลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลางและความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ของประชาชนในประเทศไทยต่อไป

 

 

ข้อมูล/ภาพ  #นายสุริยนต์ สูงคำ เจ้าหน้าที่วิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา #สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา 







ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา