โลโก้เว็บไซต์ มทร.ล้านนา จัดโครงการปฏิรูปการวิจัยและบริการวิชาการ (USAIL) เพื่อพัฒนาศักยภาพนักวิจัยและผู้ประกอบการด้านการพัฒนาข้อโครงการสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ | สถาบันวิจัยและพัฒนา

มทร.ล้านนา จัดโครงการปฏิรูปการวิจัยและบริการวิชาการ (USAIL) เพื่อพัฒนาศักยภาพนักวิจัยและผู้ประกอบการด้านการพัฒนาข้อโครงการสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

เผยแพร่เมื่อ : จันทร์ 10 กุมภาพันธ์ 2568 โดย วิทยา กวีวิทยาภรณ์ จำนวนผู้เข้าชม 83 คน

ยังไม่มีคะแนนสำหรับบทความนี้ ผู้อ่านสามารถให้คะแนนบทความได้จากปุ่มข้างใต้

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา โดยสถาบันวิจัยและพัฒนา ได้จัดโครงการ “ปฏิรูปการวิจัยและบริการวิชาการ (USAIL)” เพื่อพัฒนาศักยภาพนักวิจัยด้านการพัฒนาข้อโครงการต่อหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ระหว่างวันที่ 10-11 กุมภาพันธ์  2568 ณ ห้องประชุมศรีนคร โรงแรมคุ้มภูคำเชียงใหม่

โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.อุเทน คำน่าน รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพพร พัชรประกิติ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา เป็นผู้กล่าวรายงานถึงวัตถุประสงค์ของโครงการ และในโอกาสเดียวกันนี้ยังได้รับเกียรติจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พงศกร พิชยดนย์ ผู้ประสานงานด้านกลยุทธ์ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) เป็นวิทยากรและร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลและนำเสนอแนวทางในการส่งเสริมงานวิจัยให้ตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและสังคม ซึ่งได้รับความสนใจจากนักวิจัย มทร.ล้านนา ทั้ง 6 พื้นที่ และผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการจำนวนกว่า 60 คน สำหรับโครงการปฏิรูปการวิจัยและบริการวิชาการฯ มีเป้าหมายเพื่อสร้างความตระหนักและเสริมสร้างทักษะการวิจัยที่มุ่งเน้นการตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติในด้านต่าง ๆ เช่น การสร้างความสามารถในการแข่งขัน การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การเติบโตบนพื้นฐานคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นส่วนหนึ่งของการวางแผนเชิงกลยุทธ์เพื่อยกระดับการวิจัยของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาให้ก้าวไกลและสามารถแข่งขันในระดับประเทศได้อย่างยั่งยืน โดยโครงการนี้จะมุ่งเน้นการวิจัยใน 5 แผนย่อยที่สำคัญ ได้แก่

  1. เศรษฐกิจ: พัฒนานวัตกรรมที่ตอบโจทย์การเกษตรและภาคอุตสาหกรรม
  2. สังคม: ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน รับมือสังคมสูงวัย และพัฒนาทักษะแรงงาน
  3. สิ่งแวดล้อม: สร้างองค์ความรู้เพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ
  4. องค์ความรู้พื้นฐาน: สร้างงานวิจัยที่สะสมองค์ความรู้เพื่อการต่อยอด
  5. ปัจจัยสนับสนุน: พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการวิจัยและนวัตกรรม

มหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ในฐานะสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำด้านวิชาชีพและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา มุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ของประเทศในด้านการเกษตร อุตสาหกรรม และบริการ โดยส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถสร้างผลงานและพัฒนาผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ รวมทั้งสนับสนุนการวิจัยและการสร้างนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม โครงการปฏิรูปการวิจัยและบริการวิชาการ (USAIL) จึงเป็นก้าวสำคัญที่จะยกระดับความสามารถของนักวิจัยและเสริมสร้างการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน โดยมหาวิทยาลัยมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำด้านการวิจัยและนวัตกรรมที่ตอบสนองต่อความต้องการของภาคเศรษฐกิจและสังคมในระดับประเทศและนานาชาติ

 







ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

Facebook Messenger icon