เผยแพร่เมื่อ : พุธ 4 ธันวาคม 2567 โดย ณิชกมล โพธิ์แก้ว จำนวนผู้เข้าชม 178 คน
สถาบันวิจัยและพัฒนา มทร.ล้านนา เข้าร่วมงานเปิดตัว (kick off)
“หลักสูตรการพัฒนาศักยภาพบุคลากรสู่การเป็นนักจัดการงานวิจัยเชิงพื้นที่ (ABC Academy) ปีที่ 2”
วันที่ 3 ธันวาคม 2567 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ภายใต้กำกับของกระทรวง อว. จัดงานแถลงข่าวเปิดตัว (kick off) “หลักสูตรการพัฒนาศักยภาพบุคลากรสู่การเป็นนักจัดการงานวิจัยเชิงพื้นที่ (ABC Academy) ปีที่ 2” ณ โรงแรม เดอะ เบอร์เคลีย์ โฮเต็ล ประตูน้ำ , กรุงเทพมหานคร เพื่อต่อยอดหลักสูตรการพัฒนาศักยภาพบุคลากร สู่การเป็นนักจัดการงานวิจัยเชิงพื้นที่ปี 2 ตั้งเป้าปั้น 200 นักจัดการงานวิจัยและนวัตกรรมเชิงพื้นที่ สร้างความอยู่ดี-กินดี-มีสุขแก่ประชาชนในพื้นที่ ตามนโยบายและยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ปี พ.ศ. 2566-2570
ภายในงานมีการบรรยายพิเศษ “ทิศทางและนโยบายการพัฒนาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ภายใต้แผนด้าน ววน.” จาก ผศ.ดร.พูลศักดิ์ โกษียาภรณ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และการขับเคลื่อนแผนบูรณาการงานวิจัยเชิงพื้นที่ ทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติการให้มีประสิทธิภาพและคุณภาพ โดย ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ภายใต้การกำกับของ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม และการเสวนาหัวข้อ “ประสบการณ์และความสำเร็จจากการเข้าร่วมหลักสูตร ABC Academy” โดยผู้เข้าร่วมหลักสูตร ABC Academy รุ่นที่ 1 ประกอบด้วย ผศ.วชิรศักดิ์ เขื่อนวงค์ ดร.สามารถ สินทร และนายสุริยนต์ สูงคำ โดยมี รศ.ดร.เจษฎา มิ่งฉาย เป็นผู้ดำเนินรายการ
ก่อนที่ ศ.ดร.เสมอ ถาน้อย รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยพะเยา ประธานหลักสูตรจะชี้แจงการรับสมัครผู้เข้าร่วมหลักสูตรการพัฒนาศักยภาพบุคลากรสู่การเป็นนักจัดการงานวิจัยเชิงพื้นที่ (ABC Academy) ปีที่ 2 นั้น มีกลุ่มเป้าหมายด้วยกัน 3 กลุ่ม จำนวนรวมกันกว่า 200 คน ประกอบด้วย กลุ่มผู้บริหารมหาวิทยาลัยที่จะไปทำหน้าที่ในการขับเคลื่อนระบบบริหารจัดการงานวิจัยเชิงพื้นที่ (Policy Driven Group) กลุ่มนักวิจัยที่จะทำหน้าที่วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จะใช้ประโยชน์ได้จริงในพื้นที่ (Area Driven Group) และกลุ่มผู้สนใจทั่วไป ที่สนใจเข้ามาเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์การวิจัยและพัฒนาเชิงพื้นที่ (Open Access Group) โดยกำหนดพื้นที่ดำเนินการเอาไว้ 3 ลักษณะ ได้แก่ พื้นที่วิจัยในโครงการที่ได้รับการสนับสนุนทุนจาก บพท. พื้นที่เป้าหมายของผู้เข้าร่วมโครงการที่จะพัฒนาไปเป็น Initiative Program และพื้นที่ซึ่งได้รับทุนวิจัยจากแหล่งทุนวิจัยหรือหน่วยบริหารจัดการงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะมีการประกาศรับสมัครเพื่อเข้าร่วมโครงการตั้งแต่วันที่ 9 – 29 ธันวาคม 2567 และจะประกาศผลผู้ผ่านการคัดเลือกในวันที่ 9 มกราคม 2568
ภาพ/ข่าว : นายสุริยนต์ สูงคำ
ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา